พลาสติก PE และ PP มีความสำคัญอย่างไรต่ออุตสาหกรรมไทย ปัจจุบันในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยนั้นล้วนแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้พลาสติกด้วยกับแทบทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์พลาสติก อุตสาหกรรมสิ่งทอ อุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ วัสดุก่อสร้าง การขนส่งและโลจิสติกส์ เป็นต้น ซึ่งในกระบวนการผลิต การบรรจุ หรือการขนส่งนั้นก็ล้วนแล้วแต่ต้องเกี่ยวข้องกับพลาสติกด้วยกันแทบทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นการทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นพลาสติกต่าง ๆ การทำถุงพลาสติกหรือกระสอบพลาสติก การห่อหุ้มและการบรรจุสินค้า รวมไปถึงการทำฟิล์มยืด แผ่นฟิล์มพลาสติกต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้กับผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อีกด้วย
พลาสติกที่นำมาใช้กันมากในอุตสาหกรรมบ้านเราหลัก ๆ นั้นมีอยู่ด้วยกัน 2 ประเภท ก็คือ
- โพลีเอทิลีน (polyethylene – PE) เป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติแข็งแรง เหนียว ทนทาน ป้องกันความชื้นไม่ให้ผ่านเข้าออกได้ แต่ให้อากาศและก๊าซต่าง ๆ ซึมผ่านได้ ทนกรดและด่างอ่อน แต่ไม่ทนน้ำมันและไขมัน มีน้ำหนักเบา สามารถพับงอได้ดี มีความยืดตัวได้สูง ฉีกขาดยากและเป็นฉนวนไฟฟ้าที่ดีมาก ไม่ทนความร้อนที่อุณหภูมิสูง แต่สามารถทนความเย็นได้ถึง –100 องศาฟาเรนไฮต์ หรือประมาณ -73 องศาเซลเซียส โดยเม็ดพลาสติก PE นั้นสามารถแบ่งออกได้ตามเกรดเป็น 3 ชนิดคือ
– โพลีเอธิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำ (low-density polyethylene – LDPE) คุณสมบัติเด่นของบรรจุภัณฑ์ที่ได้จากพลาสติกชนิดนี้คือ มีความเหนียว และคงทน จึงนิยมใช้ผลิตเป็นบรรจุภัณฑ์และหีบห่อ เช่น กระสอบ ถุงเย็น ตลอดจนเป็นวัตถุดิบผลิตของเล่นเด็กพลาสติกและทำฉนวนหุ้มสายไฟ นอกจากนี้ยังใช้ทำวัสดุเคลือบผิว (coating or lamination) และใช้กับงานขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์พลาสติกโดยการเป่า (blow molding) เช่น ขวดพลาสติก เป็นต้น
– โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นสูง (high-density polyethylene – HDPE) ใช้กับงานพลาสติกเป่าขึ้นรูป (blow moulding) ได้แก่ขวดพลาสติกและภาชนะบรรจุประเภทต่าง ๆ ที่ต้องทนต่อแรงดันและต้องมีแรงต้านทานสูง นอกจากนี้ยังใช้ในงานด้านการฉีดขึ้นรูป (injection) เช่น การผลิตของเล่นเด็ก และเครื่องใช้ต่าง ๆ ภายในบ้าน ตลอดจนใช้ทำแผ่นฟิล์ม ฟิล์มยืด เชือก ฉนวนหุ้มสายไฟ ท่อ และรางน้ำ เป็นต้น โดยท่อที่ทำจาก HDPE นั้นสามารถใช้แทนท่อที่ทำจากพีวีซีได้เนื่องจากมีความทนทานที่ใกล้เคียงกัน แต่มีราคาถูกกว่า
– โพลีเอทิลีนชนิดความหนาแน่นต่ำเชิงเส้น (linear low-density polyethylene – LLDPE) โดยจะใช้เป็นวัสดุผสมกับ LDPE เพื่อเพิ่มคุณสมบัติด้านความเหนียวให้กับตัวผลิตภัณฑ์
- โพลีโพรพิลีน (polypropylene – PP) เป็นเม็ดพลาสติกที่มีคุณสมบัติคล้ายโพลีเอทิลีน ยอมให้แสงผ่านได้ดี จึงทำให้สามารถมองเห็นผลิตภัณฑ์ที่บรรจุอยู่ภายในได้ สามารถทนความร้อนได้สูงกว่า PE ถึง 300 องศาฟาเรนไฮต์ หรือ ประมาณ 150 องศาเซลเซียส รับแรงดึงได้ถึง 100,000 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว มีความเหนียวและทนทานกว่า โดยในประเทศไทยจะใช้เม็ดพลาสติกโพลีโพรพิลีนนำมาเป่าเพื่อผลิตเป็นถุงบรรจุเอนกประสงค์ ทั้งถุงร้อนและถุงเย็น ตลอดจนนำไปผลิตทำเป็นเชือก กระสอบ พื้นพรม สนามหญ้าเทียม ชิ้นส่วนรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ภายในบ้าน เป็นต้น
และนอกจากบทบาทของพลาสติก PE และ PP ที่เป็นวัตถุดิบสำคัญในภาคการผลิตแล้วนั้น ในส่วนของการขนส่งและโลจิสติกส์ ซึ่งเรียกได้ว่าเป็นส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ก็ยังมีความสำคัญด้วยเช่นกัน โดยในตอนปลายของระบบการบรรจุภัณฑ์สินค้านั้นโดยทั่วไปแล้วจะมีการนำพลาสติกมาใช้เพื่อการบรรจุสินค้า หรืออาจใช้เป็นตัวบรรจุภัณฑ์เองเลย รวมไปถึงการใช้พลาสติกหุ้มตัวบรรจุภัณฑ์เพื่อจัดกลุ่มให้ง่ายต่อการขนส่งและเป็นการปกป้องสินค้าอีกชั้นหนึ่ง และในขั้นตอนการขนส่งก็จะมีการห่อหุ้มเพื่อป้องกันสินค้าจากสภาพแวดล้อมภายนอกเพิ่มมาอีกด้วย เช่นการใช้ฟิล์มยืด PE หรือที่เรียกว่า ฟิล์มยืดพันพาเลท และสายรัดพลาสติก PP เพื่อเป็นการปกป้องให้สินค้านั้น ๆ เดินทางไปถึงมือผู้บริโภคอย่างปลอดภัยโดยที่ยังคงอยู่ในสภาพที่ใกล้เคียงกับตอนออกมาจากโรงงานให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
Leave a reply